การที่จะยับยั้งภัยพิบัติตามธรรมชาติโดยตรงนั้นทำได้ยาก สิ่งที่เราสามารถทำได้ในขณะนี้คงเป็นเพียงระบบการเตือนภัยที่รวดเร็ว และการคาดการณ์ที่แม่นยำเพื่อเตรียมรับมือกับสถานะการที่เกิดขึ้น เช่นการอพยพ การเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมถึงการประสานความร่วมมือจากประเทศข้างเคียง หรือพันธมิตรเพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด จากนั้นก็จะหนีไม่พ้นเทคโนโลยีที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค รวมถึงการดูแลทางด้านจิตใจอีกด้วย จากนั้นจะเป็นการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย รวมถึงการคมนาคมที่สูญเสียไป
นาโนเทคโนโลยีจะช่วยส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการรับมือภัยพิบัติตามธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น โดยสามารถนำไปใช้ได้ในทั้ง 3 กระบวนการข้างต้น ในบทความนี้จะนำเสนอเพียงบางตัวอย่างที่ได้มีการพัฒนาในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดอย่างรุนแรงมาก ยิ่งขึ้นในอนาคต
ในด้านของการเตือนภัย หรือการคาดการพยากรณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยพิบัติ ปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปอย่างมากทำให้สามารถเตือนภัยก่อนจะเกิดเหตุการณ์ จริงได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการเตือนภัยยังอยู่ในช่วงแคบ และการสื่อสารยังคงไม่ทั่วถึง ผลกระทบจึงยังเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติขั้นร้ายแรง เกิดขึ้นในประเทศที่มีการสื่อสารไม่ทั่วถึง นาโนเทคโนโลยี จะเข้าไปช่วยพัฒนาเกี่ยวกับเซนเซอร์ที่ใช้ในการเตือนภัย รวมถึงระบบการประมวลผล และอุปกรณ์สำหรับถ่ายทอด และสื่อสารได้แม้ในพื้นที่ห่างไกล
ในด้านของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นเริ่มตั้งแต่ การค้นหาผู้ที่อาจจะติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพัง กรณีของพายุถล่ม หรือแผ่นดินไหว โดยใช้อุปกรณ์ในการช่วยนำทาง รวมถึงการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าไปสำรวจในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปได้
เวชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่นการห้ามเลือดอย่างรวดเร็ว พลาสเตอร์ปิดแผลที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีขนาดเล็กสามารถพกพาได้ง่าย และมีความปลอดภัยสูง ลองมาดูตัวอย่างงานวิจัยที่ได้มีใช้นาโนเทคโนโลยีร่วมพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือ กับภัยพิบัติ
มหาวิทยาลัย Leeds ประเทศอังกฤษ ได้ลงทุนถึง 9.5 ล้านยูโร เพื่อพัฒนาผนังบ้านชนิดพิเศษที่มีอนุภาคนาโนโพลิเมอร์ผสมอยู่ภายใน นักวิจัยได้ใช้นาโนเทคโนโลยี และเทคนิค การติดแถบ RFID ในการสร้างบ้านที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ (self-healing) ในประเทศกรีซ โดยผนังของบ้านประกอบด้วยอนุภาคนาโนที่จะกลายสภาพเป็นของเหลวเมื่อถูกบีบอัด หรือภายใต้แรงกดดัน โดยจะไหลไปตามรอยแตกจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นของแข็งเพื่อเชื่อมประสาน รอยแตกเข้าด้วยกัน บ้านประกอบด้วยโครงสร้างเหล็ก และแผ่นคอนกรีตที่มีความแข็งแรงสูงและยังไม่ใช่เพียงเท่านั้นในบ้านหลังนี้ ยังมีเซ็นเซอร์ไร้สาย ไร้แบตเตอรี่ รวมทั้งแถบคลื่นวิทยุสำหรับการระบุตำแหน่งที่ มหาวิทยาลัย Leeds ได้พัฒนาขึ้นเอง เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้าน เช่น แรงกดดัน แรงสั่นสะเทือน อุณหภูมิ ความชื้น และระดับก๊าซ