ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายจากพายุทอร์นาโดมากที่สุด โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น ในปีหนึ่งๆ จะเกิดพายุทอร์นาโด โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดถึง 770 ครั้ง และมักจะเกิดในบริเวณที่ราบเท็กซัส แพนแฮนเดิล เฉียงขึ้นไปทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอกลาโฮมา แคนซัส มิสซูรี เนบราสกา ทางตอนใต้ของรัฐอิลลินอยส์ และสิ้นสุดทางตอนเหนือของรัฐไอโอว่า บริเวณดังกล่าวจะเกิดพายุหมุนทอร์นาโด ขึ้นประจำในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน จนได้ชื่อว่าเป็นช่องทางทอร์นาโด
นักอุตุนิยมวิทยาในสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจในการศึกษารวบรวมข้อมูล เพื่อให้สามารถระบุการเกิดพายุทอร์นาโดได้อย่างแน่นอนชัดเจน แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดบอกได้อย่างชัดเจน นอกจากอาศัยการคาดการณ์เท่านั้น นักอุตุนิยมวิยาได้ให้ข้อสังเกตว่าเกือบทุกครั้งที่จะมีพายุทอร์นาโดเกิดขึ้น มักจะมีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ติดตามด้วย ลูกเห็บก้อนโตๆ ตกลงมา อย่างไรก็ตามการมีลูกเห็บตกในขณะเกิดพายุ ฟ้าคะนองนั้น ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนว่าจะต้องเกิดพายุทอร์นาโดเสมอไป แต่ที่แน่นอนก็คือเมื่อใดที่เกิดมีพายุฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บตกลงมาด้วย นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าพายุที่เกิดขึ้นนั้นเป็นพายุที่มีความรุนแรง
พายุทอร์นาโดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นเพียง 15 – 20 นาที ส่วนวิธีป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือกับพายุทอร์นาโดก็คือ
- ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ
- สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้ายแก่กรมอุตุนิยมวิทยา
- บำรุง ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลทางการเกษตร
- เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่
- ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนและเตรียมความพร้อมอพยพหากจำเป็นหรือได้รับการแจ้งเตือนให้อพยพ