สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อนวิธีการรับมือการเกิดพายุ

6

ช่วงอากาศร้อนและร้อนต่อเนื่องหลายวัน คนส่วนใหญ่จะนึกถึง พายุฤดูร้อน ซึ่งพายุฤดูร้อนนี้จะเกิดขึ้นทุกปีและมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุนี้จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มักเกิดในราวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน หรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน แต่ปีนี้พายุฤดูร้อนมาต้นเดือนมีนาคม มีความแรง และกินบริเวณกว้าง พายุฤดูร้อนสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยต่างๆ ต้นไม้โค่นล้ม เช่น พายุฤดูร้อนพัดถล่มที่จังหวัดกาฬสินธุ์ส่งผลให้บ้านเรือนสถานที่ราชการเสียหายกว่า 200 หลังคาเรือน ครอบคลุม 2 อำเภอ และพายุฤดูร้อนพัดถล่ม อำเภอเปือยน้อย และ อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ได้เกิดพายุลมแรงพัดผ่านหมู่บ้าน มีลูกเห็บตก สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก ความเสียหายมากกว่า 300 หลังคาเรือน ที่หนักที่สุดคือจังหวัดเชียงราย พายุถล่ม 3 วันติดต่อกัน 160 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 2,600 หลัง พายุฤดูร้อนนั้นจะทำให้การหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมพายุพัดอย่างแรง โดยมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย แต่ฝนที่ตกนั้นจะตกไม่นาน เพียงแค่ประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะหยุดไป และกินพื้นที่แคบๆ ประมาณ 10-20 ตารางกิโลเมตร เมื่อฝนหยุดตกแล้วอากาศจะเย็นลง และท้องฟ้าจะเปิดอีกครั้ง

สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อน สำหรับประเทศไทย พายุฤดูร้อนเกิดจากการที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคุลมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยและอากาศที่แห้งและเย็นจากประเทศจีน อากาศเย็นจะผลักให้อากาศร้อนชื้นลอยตัวขึ้นสู่ข้างบนอย่างรวดเร็ว จนเมื่อไอความชื้นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จนก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นก้อนสีเทาเข้มสูงมากกว่า 10 กิโลเมตร หรือที่เรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบและฟ้าผ่าตามมา และหากอุณหภูมิบนยอดเมฆต่ำกว่า ลบ 60 ถึง ลบ 80 องศาเซลเซียส ก็สามารถทำให้เกิดลูกเห็บตกได้